วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2558

ปลานิล
ความเป็นมา
    เมื่อวันที่  25  มีนาคม  2508  พระจักรพรรดิอากิฮิโต  เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่นทรงจัดส่งปลานิลจำนวน  50  ตัว  ความยาวเฉลี่ยตัวละประมาณ  9  เซนติเมตร  น้ำหนักประมาณ  14  กรัม  มาทูลเกล้าฯ  ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ระยะแรกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อดิน  เนื้อที่ประมาณ  10  ตารางเมตร  ในบริเวณสวนจิตรลดา  พระราชวังดุสิต  เมื่อเลี้ยงมาได้  5  เดือนเศษ  ปรากฎว่ามีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เจ้าหน้าที่สวนหลวงขุดบ่อขึ้นใหม่อีก  6  บ่อ  มีเนื้อที่เฉลี่ยบ่อละประมาณ  70  ตารางเมตร  ซึ่งในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ได้ทรงย้ายปลาด้วยพระองค์เอง  โดยย้ายจากบ่อเดิมไปปล่อยในบ่อใหม่ทั้ง  6  บ่อ  เมื่อวันที่  1  กันยายน  2508  ต่อจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  มอบหมายให้กรมประมงจัดส่งเจ้าหน้าที่วิชาการตรวจสอบการเจริญเติบโตเป็นประจำทุกเดือน
                    โดยที่ปลาชนิดนี้เป็นปลาจำพวกกินพืช  เลี้ยงง่าย  มีรสดี  ออกลูกดก  เจริญเติบโตได้รวดเร็ว  ในเวลา  1  ปี  จะมีน้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัมและมีความยาวประมาณ  1  ฟุต  จึงได้มีพระราชประสงค์ที่จะให้ปลานี้แพร่ขยายพันธุ์  อันจะเป็นประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์ต่อไป
                     ดังนั้น  เมื่อวันที่  17  มีนาคม  2509  ซึ่งนับเป็นระยะเวลาเกือบครบ  1  ปี  ที่มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นได้จัดส่งพันธุ์ปลามาทูลเกล้าฯ  ถวายพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า  ปลานิล  และได้พระราชทานปลานิลขนาดยาว  3-5  เซนติเมตร  จำนวน  10,000  ตัว  ให้แก่กรมประมงนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยง  ในบริเวณเกษตรกลางบางเขน  และที่สถานีประมงต่างๆ  ทั่วราชอาณาจักรอีกจำนวน  15  แห่ง  เพื่อดำเนินการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ไปพร้อมกัน  ซึ่งเมื่อปลานิลนี้แพร่ขยายพันธุ์ออกมาได้มากเพียงพอแล้ว  ก็จะได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรนำไปเพาะเลี้ยงตามความต้องการต่อไป
รูปร่างลักษณะและนิสัย
  ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง  (อยู่ในตระกูล  Cichlidae)  มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกา  พบทั่วไปตามหนอง  บึง  และทะเลสาบ  ในประเทศซูดาน  อูแกนดา  แทนแกนยิกา  เนื่องจากปลาชนิดนี้เลี้ยงง่ายและเติบโตเร็ว  จึงมีผู้สนใจเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย
                ปลานิลมีรูปร่างลักษณะคล้ายปลาหมอเทศ  ลักษณะพิเศษของปลานิลนั้น  มีริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน  มีเกล็ด  4  แถวตรงบริเวณแก้ม  และจะมีลายพาดขวางลำตัวประมาณ  9-10  แถบ  มีนิสัยชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตามแม่น้ำ  ลำคลอง  หนอง  บึง  และทะเลสาบ  เป็นปลาที่อยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย  มีความอดทน  และสามารถปรับปรุงตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้ง่าย  เหมาะสมที่จะนำมาเพาะเลี้ยงในบ่อได้เป็นอย่างดี
การแพร่ขยายพันธุ์
               ลักษณะเพศ  ตามปกติแล้วรูปร่างลักษณะภายนอกของปลานิลตัวผู้และตัวเมีย  จะคล้ายคลึงกันมาก  แต่จะสังเกตได้โดยการดูอวัยวะเพศที่บริเวณใกล้ช่องทวาร  ตัวผุ้จะมีอวัยวะเพศลักษณะเรียวยาวยื่นออกมา    ส่วนตัวเมียจะมีลักษณะเป็นรูปค่อนข้างใหญ่และกลม  ปลาที่จะดูลักษณะเพศได้ชัดเจนนั้น  ต้องมีขนาดยาวตั้งแต่  10  เซนติเมตรขึ้นไป  ในกรณีที่ปลามีขนาดโตเต็มที่แล้วนั้น  อาจจะสังเกตได้ด้วยการดูสีที่ลำตัว  เพราะปลาตัวผู้จะมีสีเข้มตรงบริเวณใต้คางและตามลำตัว  ต่างกับปลาตัวเมีย  และยิ่งใกล้จะถึงฤดูผสมพันธุ์  สีก็จะยิ่งมีความเข้มยิ่งขึ้น
               พ่อแม่ปลานิลที่มีขนาดยาว  10  เซนติเมตร  และมีอายุประมาณ  4  เดือนขึ้นไป  เป็นปลาโตได้ขนาดพร้อมที่จะสืบพันธุ์ได้  หากสภาพสิ่งแวดล้อมเหมาะสมแล้ว  ปลาตัวผู้ก็จะแยกตัวออกจากฝูงแล้วเริ่มสร้างรังโดยเลือกเอาบริเวณชานบ่อตื้นๆ  ซึ่งมีระดับน้ำลึกประมาณ  30-50  เซนติเมตร  วิธีการสร้างรังนั้นปลาจะปักหัวลง  ในระดับตั้งฉากกับพื้นดินแล้วใช้ปากกับการเคลื่อนไหวของลำตัว  เขี่ยดินตะกอนออก  โดยวิธีอมเอาดินตะกอน  และเศษสิ่งของต่างๆ ในบริเวณนั้นไปทิ้งนอกรัง  จะทำอยู่เช่นนี้เรื่อยไป  จนกว่าจนได้รังซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมที่มีขนาดตามความต้องการ  หากมีปลาอื่นอยู่ในแถวนั้นด้วย  ปลานิลตัวผู้ก็จะพยายามขับไล่ให้ออกไปนอกบริเวณ  ตัวมันเองจะคอยวนเวียนอยู่ในรัศมี  2-3  เมตร  รอบๆ รัง  และจะแผ่ครีบหลังอ้าปากกว้างอยู่ตลอดเวลา  อาการเช่นนี้เป็นการเชิญชวนให้ตัวเมียซึ่งว่ายเข้ามาใกล้  ให้เจ้ามายังรังที่ได้สร้างไว้  ปลาตัวเมียบางตัวกว่าจะพบรังที่ถูกใจได้จะฝ่านรังที่ปลาตัวผู้เตรียมไว้ถึง  3  รัง
               เมื่อต่างได้คู่แล้ว  ก็จับคู่เคียงกันไป  และจะให้หางดีดผัดผันแว้งกัดกันเบาๆ  หลังจากเคล้าเคียงในลักษณะเช่นนี้ครู่หนึ่งแล้ว  ปลาก็จะผสมพันธุ์โดยตัวผู้จะใช้บริเวณหน้าผากดุนที่ใต้ท้องของตัวเมียจะวางไข่ออกมาครั้งละ  10  หรือ  20  ฟอง  ในขณะเดียวกัน  ปลาตัวผู้ก็จะว่ายคลอคู่เคียงกันไป  พร้อมกับปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่นั้น  ทำอยู่เช่นนี้  จนกว่าการผสมพันธุ์จะแล้วเสร็จ  ไขที่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อแล้วปลาตัวเมียจะเก็บไว้ฟัก  โดยวิธีอมไข่เข้าไปในปาก  แล้วว่ายออกจากรังไปยังบริเวณก้นบ่อที่ลึกกว่า  ส่วนตัวผู้ก็จะคอยหาโอกาสเวียนว่ายไปเคล้าเคลียกับตัวเมียอื่นๆ ต่อไปอีก
               แม่ปลานิลจะอมไข่ไว้ในปากปลาเป็นเวลา  4-5  วัน  ไข่ก็จะเริ่มฟักออกเป็นตัว  ลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆ  จะอาศัยอาหารจากถุงอาหารจนกระทั่งถุงอาหารธรรมชาติของลูกปลายุบหายไป  หลังจากฟักออกเป็นตัวแล้วประมาณ  3-4  วัน  แม่ปลาก็จะคายลูกปลาให้ว่ายออกมาจากปากลูกปลาในระยะนี้  สามารถกินอาหารจำพวกพืชและไรน้ำเล็กๆ  ซึ่งอยู่ในน้ำ  โดยจะว่ายวนเวียนอยู่ที่บริเวณหัวของแม่ปลา  และจะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในช่องปาก  เมื่อต้องการหลบหลีกอันตราย  โดยลูกปลาจะเข้าทางปากหรือทางช่องเหงือก  หลังจากลูกปลามีอายุได้  1  สัปดาห์  จึงจะเลิกหลบเข้าไปซ่อนในช่องปากของแม่  แต่แม่ปลาก็ยังต้องคอยระวังศัตรูให้โดยการว่ายวนเวียนอยู่ใกล้บริเวณที่ลูกปลาหาอาหารกินอยู่  ลูกปลานิลจะรู้จักวิธีหาอาหารกินได้เองเมื่ออายุได้  3 สัปดาห์  และมักจะว่ายขึ้นกินอาหารรวมกันเป็นฝูงๆ
               การแพร่ขยายพันธุ์ของปลานิลนั้น  ปริมาณไข่ที่แม่ปลาวางแต่และครั้งจะมีมากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลาและฤดูกาล  โดยประมาณแล้วปลานิลตัวเมียจะวางไข่ได้ครั้งละ  50-600  ฟอง  แม่ปลาที่เริ่มวางไข่ครั้งแรกจะให้ลูกปลาจำนวนน้อย  ปริมาณไข่ของแม่ปลาจะเพิ่มมากตามขนาดของแม่ปลาที่เจริญวัยขึ้น  แม่ปลาตัวหนึ่งสามารถว่างไข่ได้ทุกระยะ  2-3  เดือนต่อครั้ง  ถ้าหากบ่อเลี้ยงปลามีสภาพดีและมีการให้อาหารพอเพียง  ในเวลา  1  ปี  แม่ปลาตัวหนึ่งจะสามารถแพร่พันธุ์ได้ประมาณ  3-4  ครั้ง
การเตรียมบ่อและวิธีเลี้ยง
          ถึงแม่ว่าปลานิลจะเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย  แต่ในการเพาะเลี้ยงเพื่อให้ได้รับผลดีเป็นที่น่าพอใจ  จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิธีการเพาะเลี้ยงเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.    บ่อ
บ่อที่จะใช้เลี้ยงลูกปลานิล  ควรเป็นบ่อดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ขนาดตั้งแต่  400  ตารางเมตรขึ้นไป  ระดับของน้ำในบ่อควรลึกประมาณ  1  เมตร  ตลอดปี  ทั้งนี้เพื่อจะได้ใช้เลี้ยงปลาซึ่งมีขนาดโต  และใช้สำหรับเพาะลูกปลาพร้อมกันไปด้วย  เพราะถ้าเป็นบ่อซึ่งมีขนาดเล็กแล้ว  ลูกปลาที่เกิดขึ้นใหม่จะทวีจำนวนแน่นบ่ออย่างรวดเร็ว  ทำให้ลูกปลาเหล่านี้มีขนาดไม่โต  โดยที่ปลานิลเป็นปลาที่วางไข่โดยการขุดหลุมตามก้นบ่อ  ดังนั้น  จึงควรมีชานบ่อหรือทำให้ตามขอบบ่อมีส่วนเชิงลาดเทมากๆ  ซึ่งจะเป็นแหล่งตื้นๆ  สำหรับให้แม่ปลาได้วางไข่
          ถ้าบ่อนั้นอยู่ใกล้กับแม่น้ำ  เช่น  คู  คลอง  แม่น้ำ  ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องวิดน้ำเข้าออก  เพียงแต่ทำท่อระบายน้ำแล้วกรุด้วยตะแกรงตาถี่เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาที่เลี้ยงไว้หลบหนีออกไปก็ใช้ได้  และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ศัตรูของปลาที่เลี้ยงไว้หลบหนีออกมาอีกด้วย  แต่ถ้าบ่อนั้นไม่สามารถจะทำท่อระบายน้ำได้ก็จำเป็นต้องสูบน้ำเข้าบ่อเมื่อเวลาน้ำลดลง  และต้องมั่นเปลี่ยนน้ำในเวลาที่เกิดน้ำเสีย
2.    การเตรียมบ่อ
ก.  บ่อใหม่  หากเป็นบ่อที่ขุดใหม่  ดินมักมีคุณภาพเป็นกรด  ควรใช้ปูนขาวโรยให้ทั่วบ่อ  ในอัตรา  1  กิโลกรัม  ต่อเนื้อที่  10  ตารางเมตร
ข. บ่อเก่าจำเป็นต้องปรับปรุงบ่อ  โดยกำจัดวัชพืชออกให้หมด  เช่น  ผักตบชวา  จอก  บัว  และหญ้าต่างๆ  เพราะวัชพืชเหล่านี้จะปกคลุมผิวน้ำเป็นอุปสรรค์ต่อการหมุนเวียนของอากาศ  ซ้ำยังจะเป็นที่หลบซ่อนอยู่อาศัยของศัตรูที่เป็นอันตรายต่อปลา  และเป็นการจำกัดเนื้อที่ซึ่งปลาต้องใช้อยู่อาศัยอีกด้วย
ก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยง  ต้องกำจัดศัตรูของปลานิลให้หมดเสียก่อน  ได้แก่  พวกปลากินเนื้อ  เช่น  ปลาช่อน  ปลาชะโด  ปลาบู่  และปลาดุก  ถ้ามีสัตว์จำพวกเต่า  พบ  เขียด  งู  ก็ควรกำจัดให้พ้นบริเวณบ่อนั้นด้วยวิธีกำจัดอย่างง่ายๆ  คือ  โดยการระบายน้ำออกให้แห้งบ่อ  แล้วจับสัตว์ชนิดต่างๆ  ขึ้นให้หมด  แต่ถ้าบ่อนั้นไม่อยู่ใกล้ทานน้ำ  ไม่สะดวกแก่การระบายน้ำออกก็ควรใช้โล่ติ๊นสด  ในอัตราส่วน  1  กิโลกรัม  ต่อปริมาณน้ำ  100  ลูกบาศก์เมตร  วิธีใช้คือทุบหรือบดโล่ติ๊นให้ละเอียด  นำลงแช่น้ำสัก  1  หรือ  2  ปี๊บ  ขยำโล่ติ๊นเพื่อให้น้ำสีขาวออกมาหลายๆ  ครั้งจนหมด  แล้วนำไปสาดให้ทั่วบ่อ  ศัตรูประหลาดังกล่าวก็จะตายลอยขึ้นมาหมด  แล้วเก็บออกทิ้งเสียอย่าปล่อยให้เน่าอยู่ในบ่อเพราะจะทำให้น้ำเสียได้  ก่อนที่จะปล่อยปลาลงเลี้ยงควรทิ้งบ่อนั้นไว้ประมาณ  7-10  วัน  เพื่อรอฤทธิ์ของโล่ติ๊นสลายตัวไปหมดเสียก่อน
ค.  การใส่ปุ๋ย  โดยทั่วๆ  ไปแล้ว  ปลาจะกินอาหารซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและจากที่ให้สมทบเป็นจำนวนเกือบเท่าๆ กัน  ดังนั้นในบ่อเลี้ยงปลา  ควรดูแลให้มีอาหารธรรมชาติเกิดขึ้นอยู่เสมอ  จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องมีการใส่ปุ๋ยลงไปเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติ  ปุ๋ยที่ใช้ได้แก่  มูลวัว  มูลควาย  มูลหมู  มูลเป็ดและมูลไก่  นอกจากปุ๋ยมูลสัตว์ดังกล่าวแล้ว  ปุ๋ยหมักและปุ๋ยพืชสดต่างๆ  ก็ใช้ได้
                อัตราการใส่ปุ๋ย  ในระยะแรกนั้นควรใส่ประมาณ  250-300  กิโลกรัมต่อไร่  ในระยะหลังๆ  ควรใส่ในอัตราครั้งละครึ่งหนึ่งของระยะแรก   วิธีการใส่ปุ๋ย  ถ้าเป็นปุ๋ยคอก    ควรตากให้แห้งเสียก่อน  เพราะถ้าเป็นปุ๋ยที่ยังสดอยู่  จะทำให้น้ำในบ่อมีแก๊สพวกแอมโมเนียละลายอยู่ในน้ำมาก  ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อปลา  การใส่ปุ๋ยคอกควรใช้วิธีหว่านลงไปในบ่อให้ละลายไปทั่วๆ  อย่าโยนให้ตกอยู่ในที่เดียวส่วนปุ๋ยพืชสดนั้น  ควรเทสุมเป็นกองไว้ตามมุมบ่อ  1  หรือ  2  แห่ง  โดยมีไม้ไผ่ปักล้อมไว้เป็นคอก รอบกองปุ๋ยพืชสดนั้น  เพื่อป้องกันมิให้ส่วนที่ยังไม่สลายตัวลอยกระจัดกระจาย
                บ่อที่มีอาหารธรรมชาติมากหรือน้อย  จะสังเกตได้โดยการดูสีของน้ำถ้าน้ำในบ่อมีสีเขียวแสดงว่ามีอาหารจำพวกพืชเล็กๆ  ปนอยู่มาก  แต่ถ้าน้ำในบ่อมีสีค่อนข้างคล้ำ  มักจะมีอาหารจำพวกไรน้ำมาก  พวกพืชเล็กๆ  และไรน้ำมาก  พวกพืชเล็กๆ  และไรน้ำเหล่านั้น  นับว่าเป็นอาหารธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อการเลี้ยงปลาเป็นอย่างดี
                         3.    การปล่อยปลาลงเลี้ยง
                                ก.  จำนวนปลาที่ปล่อย   เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่ขยายพันธุ์ได้เร็ว  ดังนั้นจำนวนปลาที่จะปล่อยลงเลี้ยงในบ่อครั้งแรกจึงไม่จำเป็นต้องปล่อยให้มากนัก  สำหรับบ่อขนาดเนื้อที่  1  งาน  (400  ตารางเมตร)  ควรใช้พ่อแม่ปลานิลเพียง  50  คู่  หรือถ้าเป็นลูกปลาซึ่งมีขนาดเล็กก็ควรปล่อยเพียง  400  ตัว  หรือ  1  ตัวต่อ  1  ตารางเมตร
                               ข.  เวลาปล่อยปลา  เวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปล่อยปลา  ควรเป็นเวลาเช้าหรือเวลาเย็น  เพราะระยะเวลาดังกล่าวนี้อุณหภูมิของน้ำไม่ร้อนเกินไป  ก่อนที่จะปล่อยปลา  ควรเอาน้ำในบ่อใส่ปนลงไปในภาชนะที่บรรจุปลา  แล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ  2-3  นาที  เพื่อให้ปลาคุ้นกับน้ำใหม่เสียก่อน  จากนั้นจึงค่อยๆ  จุ่มปากภาชนะที่บรรจุปลานิลลงบนผิวน้ำพร้อมตะแคงภาชนะปล่อยให้ปลาแหวกว่ายออกไปอย่างช้าๆ
การให้อาหาร
          ปลานิลเป็นปลาที่กินอาหารได้ทุกชนิด  ดังนั้นปลาชนิดนี้จึงเป็นปลาที่ให้ผลผลิตสูง  โดยเฉพาะพวกอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อ  เช่น  ไรน้ำ  ตะไคร่น้ำ  ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์เล็กๆ  ที่อยู่ในบ่อ  ตลอดจนสาหร่ายและแหน  ถ้าต้องการให้ปลาโตเร็วควรให้อาหารสมทบ  เช่น  รำ  ปลายข้าว  กากถั่วเหลือง  กากถั่วลิสง  กากมะพร้าว  แหนเป็ดและปลาป่น  เป็นต้น  การให้อาหารแต่ละครั้งไม่ควรให้ปริมาณมากจนเกินไปควรกะให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของปลาเท่านั้น  ส่วนมากควรเป็นน้ำหนักราว  5%  ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง  ถ้าให้อาหารมากเกินไป  ปลาจะกินไม่หมด  เสียค่าอาหารไปโดยเปล่าประโยชน์  และยังทำให้น้ำเน่าเสีย  เป็นอันตรายแก่ปลาได้
การเจริญเติบโต
          ปลานิลเป็นปลาที่มีการเจริญเติบโตเร็ว  เลี้ยงในเวลา  1  ปี  จะมีน้ำหนักถึง  500  กรัม    และเป็นปลาที่แพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว  พ่อแม่ปลาซึ่งมีขนาดโตเต็มที่  เมื่อปล่อยลงเลี้ยงในบ่อ  จะเริ่มว่างไข่ภายใน  2-3  สัปดาห์  ลูกปลาที่เกิดจากพ่อแม่ชุดนี้จะเริ่มวางไข่ได้ต่อไปอีกเมื่อมีอายุประมาณ  3-4  เดือน
          ด้วยเหตุที่ปลานิลแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว  ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะปล่อยให้จำนวนของปลาในบ่อมีปริมาณมากจนเกินไป  หากพบว่ามีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  ควรจะจับลูกปลาแบ่งออกไปเลี้ยงยังบ่ออื่นบ้างเพราะถ้าปล่อยให้อยู่กันอย่างหนาแน่น  ปลาก็จะไม่เจริญเติบโตและจะทำให้อัตราการแพร่พันธุ์ลดน้อยลงอีกด้วย
ประโยชน์
          ปลานิลเป็นปลาซึ่งมีเนื้อมาก  และมีรสดี  สามารถที่จะนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง  เช่น  ทอด  ต้ม  แกง  ตลอดจนทำน้ำยาได้ดีเท่ากับปลาช่อน  นอกจากนี้ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆโดยทำเป็นปลาเค็มตากแห้งแบบปลาสลิด  ปลากรอบ  ปลาร้า  ปลาเจ่า  ปลาจ่อม  หรือปลาส้ม  และยังนำมาประกอบเป็นอาหารแบบอื่นได้อีกหลายชนิด  ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วนั้นสามารถเก็บไว้ได้นาน  ทั้งสามารถนำไปจำหน่าย  นับเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น